ไม่มีบทความ
ไม่มีบทความ

บทที่ 1

การสร้างสื่อการเรียนการสอน บทที่ 1 ความหมาย ประเภทและประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน หมายถึง ตัวกลางหรือช่องทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ จากแหล่งความรู้ไปสู่ผู้เรียน และทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเภทของสื่อการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนแบ่งตามคุณลักษณะได้ 4 ประเภทคือ 1. สื่อประเภทวัสดุ ได้แก่สไลด์ แผ่นใส เอกสาร ตำรา สารเคมี สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และคู่มือการฝึกปฏิบัติ 2. สื่อประเภทอุปกรณ์ ได้แก่ของจริง หุ่นจำลอง เครื่องเล่นเทปเสียง เครื่องเล่นวีดิทัศน์ เครื่องฉายแผ่นใส อุปกรณ์และเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ 3. สื่อประเภทเทคนิคหรือวิธีการ ได้แก่การสาธิต การอภิปรายกลุ่ม การฝึกปฏิบัติ การฝึกงาน การจัดนิทรรศการ และสถานการณ์จำลอง 4. สื่อประเภทคอมพิวเตอร์ ได้แก่คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) การนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer presentation) การใช้ Intranet และ Internet เพื่อการสื่อสาร (Electronic mail: E-mail) และการใช้ WWW (World Wide Web) สื่อการเรียนการสอนจำแนกตามประสบการณ์ .......1. ประสบการณ์ตรงและมีความมุ่งหมาย ประสบการณ์ขั้นนี้ เป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาทั้งปวง เป็นประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับมาจากความเป็นจริงและด้วยตัวเองโดยตรง ผู้รับประสบการณ์นี้จะได้เห็น ได้จับ ได้ทำ ได้รู้สึก และได้ดมกลิ่นจากของจริง ดังนั้นสื่อการสอนที่ไห้ประสบการณ์การเรียนรู้ในขั้นนี้ก็คือของจริงหรือความเป็นจริงในชีวิตของคนเรานั่นเอง ....... 2. ประสบการณ์จำลอง เป็นที่ยอมรับกันว่าศาสตร์ต่างๆ ในโลก มีมากเกินกว่าที่จะเรียนรู้ได้หมดสิ้นจากประสบการณ์ตรงในชีวิต บางกรณีก็อยู่ในอดีต หรือซับซ้อนเร้นลับหรือเป็นอันตราย ไม่สะดวกต่อการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง จึงได้มีการจำลองสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมาเพื่อการศึกษา ของจำลองบางอย่างอาจจะเรียนได้ง่ายกว่าและสะดวกกว่า .......3. ประสบการณ์นาฏการ ประสบการณ์ต่าง ๆ ของคนเรานั้นมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่สามารถประสบได้ด้วยตนเอง เช่น เหตุการณ์ในอดีต เรื่องราวในวรรณคดี การเรียนในเรื่องที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานที่ หรือเรื่องธรรมชาติที่เป็นนามธรรม การแสดงละครจะช่วยไปให้เราได้เข้าไปใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด เช่น ฉาก เครื่องแต่งตัว เครื่องมือ หุ่นต่าง ๆ เป็นต้น .......4. การสาธิต การสาธิตคือ การอธิบายถึงข้อเท็จจริงหรือแบ่งความคิด หรือกระบวนการต่าง ๆให้ผู้ฟังแลเห็นไปด้วย เช่น ครูวิทยาศาสตร์เตรียมก๊าซออกซิเจนให้นักเรียนดู ก็เป็นการสาธิต การสาธิตก็เหมือนกับนาฏการ หรือการศึกษานอกสถานที่ เราถือเป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่ง ซึ่งในการสาธิตนี้ อาจรวมเอาสิ่งของที่ใช้ประกอบหลายอย่าง นับตั้งแต่ของจริงไปจนถึงตัวหนังสือ หรือคำพูดเข้าไว้ด้วย แต่เราไม่เพ่งเล็งถึงสิ่งเหล่านี้ เราจะให้ความสำคัญกับกระบวนการทั้งหมดที่ผู้เรียนจะต้องเฝ้าสังเกตอยู่โดยตลอด .......5. การศึกษานอกสถานที่ การพานักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ เป็นการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเพื่อให้นักเรียนได้เรียนจากแหล่งข้อมูล แหล่งความรู้ที่มีอยู่จริงภายนอกห้องเรียน ดังนั้นการศึกษานอกสถานที่จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่เป็นสื่อกลางให้นักเรียนได้เรียนจากของจริง .......6. นิทรรศการ นิทรรศการมีความหมายที่กว้างขวาง เพราะหมายถึง การจัดแสดงสิ่งต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ชม ดังนั้นนิทรรศการจึงเป็นการรวมสื่อต่าง ๆ มากมายหลายชนิด การจัดนิทรรศการที่ให้ผู้เรียนมามีส่วนร่วมในการจัด จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสคิดสร้างสรรค์มีส่วนร่วม และได้รับข้อมูลย้อนกลับด้วยตัวของเขาเอง .......7. โทรทัศน์และภาพยนตร์ โทรทัศน์เป็นสื่อการสอนที่มีบทบาทมากในปัจจุบัน เพราะได้เห็นทั้งภาพและได้ยินเสียงในเวลาเดียวกัน และยังสามารถแพร่และถ่ายทอดเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย นอกจากนั้นโทรทัศน์ยังมีหลายรูปแบบ เช่น โทรทัศน์วงจรปิด ซึ่งโรงเรียนสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีโทรทัศน์วงจรปิด ที่เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างกว้างขวาง ภาพยนตร์เป็นสื่อที่จำลองเหตุการณ์มาให้ผู้ชมหรือผู้เรียนได้ดูและได้ฟังอย่างใกล้เคียงกับความจริง แต่ไม่สามารถถ่ายทอดเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถึงอย่างไรก็ตามภาพยนตร์ก็ยังนับว่าเป็นสื่อที่มีบทบาทมากในการเรียนการสอน เช่นเดียวกันกับโทรทัศน์ .......8. ภาพนิ่ง การบันทึกเสียง และวิทยุ ภาพนิ่ง ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพวาดซึ่งมีทั้งภาพทึบแสงและโปร่งแสง ภาพทึบแสงคือรูปถ่าย ภาพวาด หรือภาพในสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ส่วนภาพนิ่งโปร่งใสหมายถึงสไลด์ ฟิล์มสตริป ภาพโปร่งใสที่ใช้กับเครื่องฉายวัสดุโปร่งใส เป็นต้น ภาพนิ่งสามารถจำลองความเป็นจริงมาให้เราศึกษาบนจอได้ การบันทึกเสียง ได้แก่ แผ่นเสียงและเครื่องเล่นแผ่นเสียง เทปและเครื่องบันทึกเสียง และเครื่องขยายเสียงตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเสียง ซึ่งนอกจากจะสามารถนำมาใช้อย่างอิสระในการเรียนการสอนด้วยแล้ว ยังใช้กับรายการวิทยุและกิจกรรมการศึกษาอื่น ๆ ได้ด้วย ส่วนวิทยุนั้น ปัจจุบันที่ยอมรับกันแล้วว่า ช่วยการศึกษาและการเรียนการสอนได้มาก ซึ่งไม่จำกัดอยู่แต่เพียงวิทยุโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงวิทยุทั่วไปอีกด้วย .......9. ทัศนสัญลักษณ์ สื่อการสอนประเภททัศนสัญญลักษณ์นี้ มีมากมายหลายชนิด เช่น แผนภูมิ แผนภาพ แผนที่ แผนผัง ภาพโฆษณา การ์ตูน เป็นต้น สื่อเหล่านี้เป็นสื่อที่มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์สำหรับถ่ายทอดความหมายให้เข้าใจได้รวดเร็วขึ้น .......10.วจนสัญลักษณ์ สื่อขั้นนี้เป็นสื่อที่จัดว่า เป็นขั้นที่เป็นนามธรรมมากที่สุด ซึ่งได้แก่ ตัวหนังสือหรืออักษร สัญลักษณ์ทางคำพูดที่เป็นเสียงพูด ความเป็นรูปธรรมของสื่อประเภทนี้จะไม่คงเหลืออยู่เลย อย่างไรก็ดี ถึงแม้สื่อประเภทนี้จะมีลักษณะที่เป็นนามธรรมที่สุดก็ตาม เราก็ใช้ประโยชน์จากสื่อประเภทนี้มาก เพราะต้องใช้ในการสื่อความหมายอยู่ตลอดเวลา สื่อการเรียนการสอนจำแนกตามคุณสมบัติ .......Wilbure Young ได้จัดแบ่งไว้ดังนี้ 1. ทัศนวัสดุ (Visual Materials) เช่น กระดานดำ กระดานผ้าสำลี) แผนภูมิ รูปภาพ ฟิล์มสตริป สไลด์ ฯลฯ 2. โสตวัสดุ (Audio Materisls ) เช่น เครื่องบันทึกเสียง (Tape Recorder) เครื่องรับวิทยุ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ระบบขยายเสียง ฯลฯ 3. โสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) เช่น ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ฯลฯ 4. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ (Equipments) เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์ เครื่องฉายฟิล์มสตริป เครื่องฉายสไลด์ 5. กิจกรรมต่าง ๆ (Activities )เช่น นิทรรศการ การสาธิต ทัศนศึกษา ฯลฯ สื่อการเรียนการสอนจำแนกตามรูปแบบ (Form)Louis Shores ได้แบ่งประเภทสื่อการสอนตามแบบไว้ ดังนี้ 1. สิ่งตีพิมพ์ (Printed Materials) เช่น หนังสือแบบเรียน เอกสารการสอน ฯลฯ 2 วัสดุกกราฟิก เช่น แผนภูมิ ( Charts) แผนสถิติ (Graph) แผนภาพ (Diagram) ฯลฯ 3. วัสดุฉายและเครื่องฉาย (Projected Materials and Equipment) เช่น ภาพยนตร์ สไลด์ ฯลฯ 4. วัสดุถ่ายทอดเสียง (Transmission) เช่น วิทยุ เครื่องบันทึกเสียง สื่อการเรียนการสอนตามลักษณะและการใช้ 1. เครื่องมือหรืออุปกรณ์ (Hardware) 2. วัสดุ (Software) 3. เทคนิคหรือวิธีการ (Techinques or Methods) คุณค่า และประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน 1. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ....1.1 เรียนรู้ได้ดีขึ้นจากประสบการณ์ที่มีความหมายในรูปแบบต่างๆ ....1.2 เรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง ....1.3 เรียนรู้ได้ง่ายและเข้าใจได้ชัดเจน ....1.4 เรียนรู้ได้มากขึ้น ....1.5 เรียนรู้ได้ในเวลาที่จำกัด 2. ช่วยให้สามารถเอาชนะข้อจำกัดต่าง ๆ ในการเรียนรู้ ได้แก่ ....2.1 ทำสิ่งนามธรรมให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ....2.2 ทำสิ่งซับซ้อนให้ง่ายขึ้น ....2.3 ทำสิ่งเคลื่อนไหวช้าให้เร็วขึ้น ....2.4 ทำสิ่งเคลื่อนไหวเร็วให้ช้าลง ....2.5 ทำสิ่งเล็กให้ใหญ่ขึ้น ....2.6 ทำสิ่งใหญ่ให้เล็กลง ....2.7 นำสิ่งที่อยู่ไกลมาศึกษาได้ ....2.8 นำสิ่งที่เกิดในอดีตมาศึกษาได้ช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้ ....2.9 ช่วยให้จดจำได้นาน เกิดความประทับใจและมั่นใจในการเรียน ....2.10 ช่วยให้ผู้เรียนได้คิดและแก้ปัญหา ....2.11 ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล คุณค่าของสื่อการเรียนการสอนการเรียนการสอน 1.สื่อการเรียนการสอนสามารถเอาชนะข้อจำกัดเรื่องความแตกต่างกันของประสบการณ์ดั้งเดิมของผู้เรียน คือเมื่อใช้สื่อการเรียนการสอนแล้วจะช่วยให้เด็กซึ่งมีประสบการณ์เดิมต่างกันเข้าใจได้ใกล้เคียงกัน 2.ขจัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสถานที่ ประสบการณ์ตรงบางอย่าง หรือการเรียนรู้ 3.ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากสิ่งแวดล้อมและสังคม 4.สื่อการเรียนการสอนทำให้เด็กมีความคิดรวบยอดเป็นอย่างเดียวกัน 5.ทำให้เด็กมีมโนภาพเริ่มแรกอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ 6.ทำให้เด็กมีความสนใจและต้องการเรียนในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น เช่นการอ่าน ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ทัศนคติ การแก้ปัญหา ฯลฯ 7.เป็นการสร้างแรงจูงใจและเร้าความสนใจ 8.ช่วยให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์จากรูปธรรมสู่นามธรรม

บทที่ 2

บทที่ 2 จิตวิทยาการรับรู้ การเรียนรู้และจิตวิทยาพัฒนาการ
การรับรู้ เป็นกระบวนการแปลความหมายระหว่างประสาทสัมผัสกับระบบประสาทของมนุษย์ ที่ใช้อวัยวะรับสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้ส่วนของประสาทสัมผัสในอวัยวะนั้น ส่งผลเชื่อมโยงไปยังสมอง และสมองจะถอดรหัสนั้นไปยังระบบประสาท ทำให้เกิดการรับรู้และรู้สึก
จิตวิทยาการรับรู้ เป็นเหตุการณ์ความรู้สึกที่เป็นผลจากกิจกรรมของเซลล์สมอง เป็นลักษณะหนึ่งของจิตแต่ไม่ใช่จิตทั้งหมด
จิตวิทยาการเรียนรู้
การเรียนรู้เกิดจากการรับรู้ของระบบประสาท และการแปลรหัสการรับรู้ให้สมองสั่งการ ความรู้สึกใดที่สมองได้บันทึกและจดจำไว้จะเรียกว่าประสบการณ์ เมื่ออวัยวะสัมผัสต่อสิ่งเดิมอีกจะเกิดการระลึกได้
องค์ประกอบของการเรียนรู้
1. สติปัญญาของผู้รับรู้ ถ้าสติปัญญาดีจะเรียนรู้ได้เร็ว
2. ความตั้งใจในกิจกรรมที่ผู้รับรู้สัมผัส
3. ความสนใจ การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนั้น
4. สภาพจิตใจของผู้รับรู้ในขณะนั้น
พฤติกรรมการเรียนรู้
จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1. พุทธนิยม หมายถึง การเรียนรู้ในด้านความรู้ ความเข้าใจ
2. จิตพิสัย หมายถึง การเรียนรู้ด้านทัศนคติ ค่านิยม ความซาบซึ้ง
3. ทักษะพิสัย หมายถึง การเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำหรือปฏิบัติงาน
การเรียนรู้กับการเรียนการสอน
ในการสอนที่ดี ผู้สอนจำเป็นต้องนำทฤษฎีการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ในการเรียนรู้ ซึ่งสามารถกระทำได้หลายสถานการณ์ เช่น
1. การมีส่วนร่วมในการรับรู้ โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดและไตร่ตรอง
2. การทราบผลย้อนกลับ การให้ผู้เรียนได้รับทราบผลของการทำกิจกรรมต่างๆ
3. การเสริมแรง ทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจ
4. การเรียนรู้ตามระดับขั้น โดยจัดความรู้จากง่ายไปยาก
จิตวิทยาพัฒนาการ

บทที่ 3

บทที่ 3 การสื่อความหมาย
การสื่อความหมาย คือ การถ่ายโยงความคิดหรือความรู้สึกให้เห็นพ้องต้องกันของบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่ง โดยผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การพูดคุย กริยา ท่าทาง การแสดงสีหน้า ภาษาเขียน ภาษาภาพ
องค์ประกอบของการสื่อความหมาย
1. ผู้ส่ง อาจเป็นเพียง 1 คน หรือกลุ่มคนก็ได้ ซึ่งเป็นผู้นำเรื่องราวข่าวสาร เพื่อส่งไปยังผู้รับ โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งในการเข้ารหัสเพื่อให้ผู้รับเข้าใจ
2. สาร เนื้อหาของสารหรือสาระของเรื่องราวที่ส่งออกมา
3. สื่อหรือช่องทางในการนำสาร ได้แก่ ตัวกลางที่ช่วยถ่ายทอดเหตุการณ์ บทเรียน ที่ผู้ส่งต้องการให้ไปถึงผู้รับ สื่อที่ใช้ในการถ่ายทอดอาจเป็นภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษามือ และภาษากายก็ได้
4. ผู้รับหรือกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้รับข่าวสารเรื่องราวต่างๆจากผู้ส่ง
5. ผล ได้แก่ การรับรู้ข่าวสารของผู้รับ ซึ่งผู้รับจะเข้าใจข่าวสารมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสิ่งที่ใช้ในสถานการณ์และทัศนคติของผู้รับในขณะนั้น
6. ข้อมูลย้อนกลับ ได้แก่ การแสดงกิริยาตอบสนองของผู้รับต่อข้อมูลข่าวสารให้ผู้ส่งรับรู้
การสื่อความหมาย จำแนกเป็น 3 ลักษณะ
1. วิธีการของการสื่อความหมาย
วจนภาษา หมายถึง การสื่อความหมายโดยใช้ภาษาพูด
อวจนภาษา หมายถึง การสื่อความหมายโดยใช้ภาษากาย ภาษาเขียน และภาษามือ
การเห็นหรือการใช้จักษุสัมผัส หมายถึง การสื่อความหมายโดยใช้ภาษาภาพ
2. รูปแบบการสื่อความหมาย
การสื่อความหมายทางเดียว เช่น การสอนโดยใช้สื่อทางไกลระบบออนไลน์
การสื่อความหมายสองทาง เช่น การคุย MSN การคุยโทรศัพท์ การเรียนการสอนในชั้นเรียน
3. ประเภทของการสื่อความหมาย
การสื่อความหมายในตนเอง เช่น การเขียน การค้นคว้า การอ่านหนังสือ
การสื่อความหมายระหว่างบุคคล เช่น การคุยโทรศัพท์ การคุย MSN
การสื่อความหมายกับกลุ่มชน เช่น ครูสอนนักเรียน การบรรยายของวิทยากรกับผู้เข้าอบรม
การสื่อความหมายกับมวลชน เช่น การแถลงข่าวทางวิทยุ โทรทัศน์
การเรียนรู้กับการสื่อความหมาย
ความรู้ความเข้าใจในทฤษฎีและหลักการของการสื่อความหมาย ที่ประกอบด้วยผู้ให้ความรู้(ผู้ส่ง) เนื้อหาวิชา(สาร) ผู้เรียน(ผู้รับ)

บทที่ 4

บทที่ 4 การออกแบบสื่อการเรียนการสอน
การออกแบบสื่อ องค์ประกอบทีสำคัญในการเรียนการสอน คือสิ่งที่นำไปประกอบการเรียนการสอน
ลักษณะการออกแบบที่ดี
1. ควรเป็นการออกแบบที่เหมาะสมกับความมุ่งหมายของการนำไปใช้
2. ควรเป็นการออกแบบที่มีลักษณะง่ายต่อการทำความเข้าใจ การนำไปใช้งานและกระบวนการผลิต
3. ควรมีสัดส่วนที่ดีและเหมาะสมตามสภาพการใช้งานของสื่อ
4. ควรมีความกลมกลืนของส่วนประกอบ ตลอดจนสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของการใช้และการผลิตสื่อชนิดนั้น
ปัจจัยพื้นฐานของการออกแบบสื่อการสอน
1. เป้าหมายของการเรียนการสอน
พฤติกรรมด้านพุทธพิสัย แสดงว่าได้เกิดความรู้และสามารถอธิบายวิเคราะห์ได้
พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย เป็นทักษะในการเคลื่อนไหวลงมือทำงาน หรือความว่องไวในการแก้ปัญหา
พฤติกรรมด้านจิตพิสัย แสดงความรู้สึก อารมณ์ที่มีต่อสิ่งที่เรียนรู้และสภาพแวดล้อม
2. ลักษณะของผู้เรียน เนื้อหาและรายละเอียดของสื่อย่อมแปรตามอายุ และความรู้พื้นฐานของผู้เรียน
3. ลักษณะแวดล้อมของการผลิตสื่อ
ลักษณะผู้เรียน
- การสอนกลุ่มใหญ่ ในลักษณะการบรรยาย สาธิต
- การสอนกลุ่มเล็ก
- การสอนเป็นรายบุคคล
สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้สื่อ
4. ลักษณะสื่อ
- ลักษณะเฉพาะตัวของสื่อ
- ขนาดมาตรฐานของสื่อ
วิธีระบบกับการออกแบบสื่อการเรียนการสอน
เป็นวิธีการนำเอาผลที่ได้(ข้อมูลย้อนกลับ)จากการผลิตหรือการประเมินผล มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ระบบการเรียนการสอน
1. เนื้อหาหรือวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม จะต้องมีความสอดคล้องกัน
2. พิจารณาพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้เรียน คือ ต้องทราบพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียน
3. ขั้นการสอน วิธีการสอน และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดี
4. การประเมินผล เพื่อตรวจสอบการดำเนินการเรียนการสอน
5. วิเคราะห์ผลและปรับปรุงข้อบกพร่องของระบบการเรียนการสอน

บทที่ 5


บทที่ 5 การสร้างสื่อด้วยคอมพิวเตอร์
การสร้างสื่อการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน CAI เป็นกระบวนการเรียนการสอน โดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอเนื้อหาสาระ
องค์ประกอบของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
1. เสนอสิ่งเร้าให้กับผู้เรียน ได้แก่ เนื้อหา ภาพนิ่ง คำถาม ภาพเคลื่อนไหว
2. ประเมินการตอบสนองของผู้เรียน ได้แก่ การตัดสิน คำตอบ
3. ให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อการเสริมแรง ได้แก่ การให้รางวัลหรือคะแนน
4. ให้ผู้เรียนเลือกสิ่งเร้าลำดับต่อไป
รูปแบบต่างๆของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
1. เพื่อการสอน สอนเนื้อหาใหม่แก่ผู้เรียน
2. ประเภทแบบฝึกหัด เพื่อฝึกความแม่นยำ
3. ประเภทสถานการณ์จำลอง เพื่อให้ผู้เรียนได้ทดลองปฏิบัติกับสถานการณ์จำลอง
4. ประเภทเกมการสอน เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน
5. ประเภทการค้นพบ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทดลองกระทำสิ่งต่างๆจนสามารถสรุปได้ด้วยตนเอง
6. ประเภทแก้ปัญหา ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด ตัดสินใจ
7. ประเภทเพื่อการทดสอบ ใช้ประเมินการสอนของครู
ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
1. สร้างแรงจูงใจในการเรียน ดึงดูดความสนใจ
2. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสามารถเข้าใจเนื้อหาได้เร็ว
3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบต่อตนเอง
4. สามารถรับรู้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้อย่างชัดเจน
5. ประหยัดเวลาและงบประมาณในการเรียนการสอน

บทที่ 6

..........การออกแบบสองมิติ (two – dimensional design) เป็นการออกแบบบนระนาบรองรับ เช่น กระดาษ แผ่นไม้ ผ้าใบ ผนังคอนกรีต เป็นต้น ซึ่งตรวจสอบมิติได้เพียงความกว้างของความยาว ไม่มีความหนาให้ตรวจสอบได้ในการออกแบบสองมิติสามารถจำแนกมิติของการรับรู้ได้ 2 ประการ คือ
......... 1. มิติที่ตรวจสอบได้เป็นการออกแบบให้มีรูปร่างต่าง ๆ โดยใช้ส่วนประกอบของการออกแบบสามารถรับรู้และ ตรวจสอบมิติกว้างยาวบนผิวหน้าของระนาบรองรับได้
..........2. มิติที่ตรวจสอบไม่ได้เป็นการออกแบบสองมิติ แต่ในการรับรู้ด้วยสายตาและความรู้สึกดูเหมือนภาพสามมิติแต่ตรวจสอบไม่ได้ด้วยการวัด เปรียบเทียบได้กับภาพถ่ายของโต๊ะ ซึ่งสามารถรับรู้ได้ว่ามีความกว้าง ความยาว และความหนา แต่ภาพที่ปรากฏมีเพียงความกว้างและความยาวเท่านั้น มิติที่ตรวจสอบไม่ได้นี้เรียกว่า มิติมายา หรือมิติลวงภาพ
...1 การออกแบบภาพสองมิติจากการตัดกระดาษ สามารถตรวจสอบมิติกว้างยาวได้
...2 การออกแบบภาพสองมิติ เป็นจิตรกรรมที่แสดงความลึก ซึ่งเป็นมิติลวงได้อย่างชัดเจนมิติที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือมิติลวงนั้น มีวิธีการทำให้ปรากฏได้หลายวิธี ดังต่อไปนี้
2.1 วิธีทัศนียภาพเส้น (linear perspective) เป็นการใช้เส้นแสดงขนาดสัดส่วน ซึ่งสัมพันธ์กับการมองเห็นจริง ๆ คือ สิ่งที่อยู่ใกล้จะดูใหญ่กว่าสิ่งที่อยู่ไกล เช่นเดียวกับการเขียนแบบทัศนียภาพภาพ
....3 การออกแบบทัศนียภาพเส้น สิ่งที่อยู่ใกล้จะดูใหญ่กว่าสิ่งที่อยู่ไกล
3.1 วิธีทัศนียภาพบรรยากาศ (aerial or atmospheric perspective) เป็นการสร้างบรรยากาศให้พร่ามัว โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปทางด้านหลัง ดูเหมือนมีหมอกปกคลุมอยู่ ทำให้สิ่งที่อยู่ใกล้ดูชัด สิ่งที่อยู่ไกลดูไม่ชัด
....4 การออกแบบจิตรกรรม เป็นทัศนียภาพบรรยากาศ ซึ่งสิ่งที่อยู่ใกล้จะดูชัดกว่าสิ่งที่อยู่ไกล
4.1 วิธีมองจากด้านบน (top-view dimension) เป็นการแสดงความใกล้ไกลด้วยวิธีการมองจากด้านบน หรือมองจากที่สูงลงมา สิ่งที่อยู่ใกล้จะอยู่ด้านล่างของพื้นฐานและสิ่งที่อยู่ไกลจะอยู่ทางด้านบนของพื้นภาพ
4.2 วิธีทัศนียภาพสี (color perspective) เป็นการแสดงความตื้นลึกโดยการใช้น้ำหนักของสี น้ำหนักแก่และน้ำหนักอ่อน สามารถแสดงความใกล้หรือไกลได้ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะในการใช้ ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์ในการมองเห็นเป็นสำคัญ
......5 การออกแบบที่แสดงความใกล้ไกลด้วยวิธีการมองจากด้านบน
......6 วิธีบังซ้อนกัน (over lapping) เป็นการแสดงความตื้นลึกด้วยการทับกัน บังกัน หรือซ้อนทับกัน สิ่งที่ถูกทับหรือไกลกว่าสิ่งที่ทับ
.....7 วิธีเอกซ์เรย์ (X-ray dimension) เป็นการแสดงความตื้นลึกหรือใกล้ไกลด้วยความโปร่งใส เหมือนกับฟิมล์เอกซ์เรย์ทางการแพทย์ แต่บางครั้งไม่อาจจะสรุปให้เป็นที่แน่นอนได้ว่าสิ่งใดอยู่ใกล้หรือไกลกว่ากัน สำหรับการจัดภาพในงานออกแบบสองมิติ ถ้าจะให้ได้ผลสมบูรณ์
........ควรคำนึงถึงสิ่งสำคัญ 3 ประการ คือ
1. ขอบภาพ (the picture bordor) เป็นการจัดภาพให้ส่วนประกอบในภาพสัมพันธ์กันเอง และให้ส่วนประกอบทั้งหมดสัมพันธ์กับของภาพด้วย
2. บริเวณว่างที่ราบเรียบ (flat or shallow space) เป็นการจัดภาพให้เกิดความใกล้ไกลบนพื้นเรียบ ซึ่งอาจใช้วิธีทับซ้อนกัน หรือวิธีอื่น ๆ แต่ไม่ค่อยนิยมให้เหมือนจริงตามธรรมชาติ
3. บริเวณโพสิทีฟและเนกาทีฟ (positive and negative space) เป็นการจัดภาพให้บริเวณโพสิทีฟ (บริเวณรูป) สัมพันธ์กับบริเวณเนกาทีฟ

บทที่ 7

………“สื่อสิ่งพิมพ์” จึงมีความหมายว่า “สิ่งที่พิมพ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผ่นกระดาษหรือวัตถุใด ๆ ด้วยวิธีการต่าง ๆ อันเกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะเหมือน ต้นฉบับขึ้นหลายสำเนาในปริมาณมากเพื่อเป็นสิ่งที่ทำการติดต่อ หรือชักนำให้บุคคลอื่นได้เห็นหรือทราบ ข้อความต่าง ๆ”
..........ประเภทของสื่อสิ่งพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือ
..........- หนังสือสารคดี ตำรา แบบเรียนเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่แสดงเนื้อหาวิชาการในศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อสื่อให้ผู้อ่าน เข้าใจความหมาย ด้วยความรู้ที่เป็นจริง จึงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นความรู้อย่างถูกต้อง
..........- หนังสือบันเทิงคดีเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้เรื่องราวสมมติ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับควา เพลิดเพลิน สนุกสนาน มักมีขนาดเล็ก เรียกว่า หนังสือฉบับกระเป๋า หรือ Pocket Book ได้สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ข่าวสาร
..........- หนังสือพิมพ์ (Newspapers) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอเรื่องราว ข่าวสารภาพและความคิดเห็น ในลักษณะของแผ่นพิมพ์ แผ่นใหญ่ ที่ใช้วิธีการพับรวมกัน ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ชนิดนี้ ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ทั้งลักษณะ หนังสือพิมพ์รายวัน, รายสัปดาห์ และรายเดือน
...........- วารสาร, นิตยสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นโดยนำเสนอสาระ ข่าว ความบันเทิง ที่มีรูปแบบการนำเสนอ ที่โดดเด่น สะดุดตา และสร้างความสนใจให้กับผู้อ่าน ทั้งนี้การผลิตนั้น มีการ กำหนดระยะเวลาการออกเผยแพร่ที่แน่นอน ทั้งลักษณะวารสาร, นิตยสารรายปักษ์ (15 วัน) และ รายเดือน
...........- จุลสาร เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นแบบไม่มุ่งหวังผลกำไร เป็นแบบให้เปล่าโดยให้ผู้อ่านได้ศึกษาหาความรู้ มีกำหนดการออกเผยแพร่เป็นครั้ง ๆ หรือลำดับต่าง ๆ ในวาระพิเศษ
..........- สิ่งพิมพ์โฆษณา- โบร์ชัวร์ (Brochure) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีลักษณะเป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ เย็บติดกันเป็นเล่มจำนวน 8 หน้าเป็น อย่างน้อย มีปกหน้าและปกหลัง ซึ่งในการแสดงเนื้อหาจะเกี่ยวกับโฆษณาสินค้า
..........- ใบปลิว (Leaflet, Handbill) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ใบเดียว ที่เน้นการประกาศหรือโฆษณา มักมีขนาด A4 เพื่อง่ายในการแจกจ่าย ลักษณะการแสดงเนื้อหาเป็นข้อความที่ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจง่าย
.........- แผ่นพับ (Folder) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยเน้นการนำเสนอเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้นเป็นเนื้อหา ที่สรุปใจความสำคัญ ลักษณะมีการพับเป็นรูปเล่มต่าง ๆ
.........- ใบปิด (Poster) เป็นสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณา โดยใช้ปิดตามสถานที่ต่าง ๆ มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งเน้นการนำเสนออย่างโดดเด่น ดึงดูดความสนใจสิ่งพิมพ์เพื่อการบรรจุภัณฑ์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการห่อหุ้มผลิตภัณฑ์การค้าต่าง ๆ แยกเป็นสิ่งพิมพ์หลัก ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่ใช้ปิดรอบขวด หรือ กระป๋องผลิตภัณฑ์การค้า สิ่งพิมพ์รอง ได้แก่ สิ่งพิมพ์ที่เป็นกล่องบรรจุ หรือลังสิ่งพิมพ์มีค่าเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญต่าง ๆ ซึ่งเป็นกำหนดตามกฎหมาย เช่น ธนาณัติ, บัตรเครดิต, เช็คธนาคาร, ตั๋วแลกเงิน, หนังสือเดินทาง, โฉนด เป็นต้นสิ่งพิมพ์ลักษณะพิเศษเป็นสื่อสิ่งพิมพ์มีการผลิตขึ้นตามลักษณะพิเศษแล้วแต่การใช้งาน ได้แก่ นามบัตร, บัตรอวยพร, ปฎิทิน,บัตรเชิญ,ใบส่งของ,ใบเสร็จรับเงิน,สิ่งพิมพ์บนแก้ว ,สิ่งพิมพ์บนผ้า เป็นต้นสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้งานในคอมพิวเตอร์ หรือระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ได้แก่ Document Formats, E-book for Palm/PDA เป็นต้น
............บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์มีบทบาท ดังต่อไปนี้
............1. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในงานสื่อมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์มีความสำคัญในด้านการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร สาระ และความบันเทิง ซึ่งเมื่องานสื่อมวลชนต้องเผยแพร่ จึงต้องผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพิมพ์, วารสาร, นิตยสาร เป็นต้น
...........2. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในสถานศึกษา สื่อสิ่งพิมพ์ถูกนำไปใช้ในสถานศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งทำให้ผู้เรียน ผู้สอนเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น เช่น หนังสือ ตำรา แบบเรียน แบบฝึกหัดสามารถพัฒนาได้เป็นเนื้อหาในระบบ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้
........3. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในงานด้านธุรกิจ สื่อสิ่งพิมพ์ที่ถูกนำไปใช้ในงานธุรกิจประเภทต่าง ๆ เช่น งานโฆษณา ได้แก่ การผลิต หัวจดหมาย/ซองจดหมาย, ใบเสร็จรับเงิน/ใบส่งของ, โฆษณาหน้าเดียว, นามบัตร เป็นต้น
..........4. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในงานธนาคารงานด้านการธนาคาร ซึ่งรวมถึง งานการเงินและงานที่เกี่ยวกับ หลักฐานทางกฎหมาย ได้นำสื่อสิ่งพิมพ์หลาย ๆ ประเภทมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น ใบนำฝาก, ใบถอน, ธนบัตร, เช็คธนาคาร, ตั๋วแลกเงิน และหนังสือเดินทาง
.........5. บทบาทของสื่อสิ่งพิมพ์ในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีก สื่อสิ่งพิมพ์ที่ทางห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้า ปลีกใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ใบปิดโฆษณาต่าง ๆ ใบปลิว, แผ่นพับ, จุลสาร

บทที่ 8

...........งานออกแบบสามมิติ
......งานสามมิติ หมายถึง การจัดปริมาตรที่เป็นจริงในที่ว่างด้วยองค์ประกอบ พลาสติก
คือ รูปทรง เส้น ระนาบ ที่ว่าง สี และผิวสัมผัส ฯลฯ ให้มีความเคลื่อนไหว และจัดให้องค์ประกอบ
เหล่านี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
.....มิติมีความหมายว่า การวัดขนาดต่างๆ เช่น ความกว้าง ความยาว หรือความสูง
ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า dimension
การวัดเฉพาะความยาวเรียกว่า first dimension
การวัดเฉพาะความกว้างเรียกว่า second dimension
การวัดเฉพาะความสูงหรือความหนาเรียกว่า third dimension
แต่การวัดทั้งความยาว ความกว้าง และความสูงหรือหนารวมเรียกว่า three dimensionหรือ 3 มิติ
.....ความหมายโดยทั่วไปของคำว่า 3 มิติ จึงสามารถครอบคลุมไปถึงวัตถุ
สิ่งของต่างๆ ที่มีความยาว ความกว้าง และความสูงหรือความหนาด้วย เช่น คน สัตว์ สิ่งของอาคารบ้านเรือน ฯลฯ
.....ในทางศิลปะ คำว่า 3 มิติ ตรงกับคำว่า ภาพลอยตัว (round relief) ซึ่งหมายถึงภาพที่สามารถมองเห็นได้ทุกๆ ด้าน สามารถกินเนื้อที่ในอากาศและน้ำ ซึ่งก็คืองานประติมากรรม
นั่นเองที่ว่าง 3 มิติ เกิดจากรูปทรงธรรมชาติที่เรารู้จักดีว่ามี 3 มิติ รูปทรงเหล่านี้ ได้แก่คน สัตว์ สิ่งของ ทิวทัศน์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม้จะเขียนขึ้นด้วยเส้นรูปนอกเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องแสดงปริมาตรด้วยน้ำหนักหรือสีผู้ดูก็จะรู้สึกได้เองว่าเป็นรูปทรงที่มีปริมาตร เพราะ
ความเคยชินที่ได้เห็นอยู่เป็นประจำดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า
......งานออกแบบสามมิติ หมายถึง การจัดองค์ประกอบทางศิลปะให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีมิติของการมองได้ทั้งความกว้าง ความยาวและความสูง หรือความหนา งานสามมิติกินบริเวณพื้นที่ว่างสามมิติ งานสามมิติมีทั้งเคลื่อนไหวได้และเคลื่อนไหวไม่ได้
...การออกแบบงานสามมิติถ้าผู้ศึกษาได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติในหลักการออกแบบศิลปกรรมตั้งแต่ในบทที่ 1จนถึงบทที่ 13 ซึ่งกล่าวถึงทัศนธาตุและหลักการออกแบบทั้งหลายตามลำดับก็สามารถนำมา
ประยุกต์ใช้ได้กับงานออกแบบสามมิติ องค์ประกอบพื้นฐานที่จะนำมาใช้ในงานออกแบบ
....สามมิติคือรูปทรง เส้น ระนาบ ที่ว่าง สี พื้นผิว จังหวะ เอกภาพ ดุลยภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อดุลยภาพที่เป็นจริงและดุลยภาพที่วัดได้ด้วยสายตาการสร้างงานศิลปะสามมิติมีความซับซ้อนมากกว่าการออกแบบสองมิติตรงที่งานสองมิตินำเสนอภายในกรอบภาพเท่านั้น แต่งานสามมิตินำเสนอรูปทรงและพื้นที่ว่างสามมิติ
ที่สัมพันธ์กัน เพื่อให้ผู้ชมสามารถชมความงามได้รอบทิศ ซึ่งผู้สร้างงานจะต้องเข้าใจมุมมองและระยะของการมองด้วย ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงงานออกแบบสามมิติเฉพาะเพียงบางส่วนที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาจากการออกแบบสองมิติและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานสิ่งพิมพ์ได้การออกแบบจึงเริ่มต้นตั้งแต่วัตถุประสงค์ของการสร้างงานว่า จะนำงานออกแบบสามมิติชนิดนั้นไปใช้ทำอะไร มีแนวเรื่อง และแนวคิดอย่างไร ต้องการให้คงสภาพเหมือนจริงตามธรรมชาติ เพิ่มรูป ลดรูป เป็นรูปทรงธรรมชาติ รูปเรขาคณิต หรือรูปทรงอิสระ วัสดุและกรรมวิธีในการทำงานเหล่านี้ เป็นต้น
.........การออกแบบงานสามมิติที่พัฒนาขึ้นมาจากการออกแบบสองมิติเหล่านี้ได้แก่
...1. งานประติมากรรมกระดาษ (paper sculpture)
...2. งานภาพยก (paper pop-ups)
...3. งานประติมากรรมดิน (clay sculpture)
...4. งานศิลปะสื่อผสม (mixed media)
...5. งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ (recycle sculpture)
...6. งานประติมากรรมจากวัสดุพิเศษ (specialty sculpture)
..1. งานประติมากรรมกระดาษ
....ปัจจุบันวงการโฆษณาและงานพิมพ์นำประติมากรรมกระดาษมากระตุ้น
ความสนใจแก่ผู้บริโภค ประติมากรรมกระดาษทำให้งานดูมีมิติ มีแสงเงาด้วยการพับ โค้ง ม้วนผลงานที่ออกมาจะเป็นเรื่องราวที่นำเสนอภาพในชีวิตประจำวัน หรือเหนือจริงที่อาจเหมือนจริง
หรือดูเป็นนามธรรม บางครั้งมีการเติมเต็มด้วยการวาดภาพระบายสีลงไป เพิ่มเติมภาพประกอบซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่วงการออกแบบนิเทศศิลป์เป็นอย่างมาก แม้ว่าประติมากรรมกระดาษมีมานานแล้ว แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของรูปแบบและพื้นผิวของกระดาษ ซึ่งล้วนทำให้ผู้ชมเกิดจินตนาการได้ทั้งสิ้น
..2. งานภาพยก
....งานภาพยกมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายกรรมวิธี อาทิ การเจาะกรุ เจาะพับให้เกิดการยกระดับ และการออกแบบโดยใช้ความหลากหลายของรูปร่าง เพื่อให้เกิดภาพยกที่น่าสนใจ เทคนิคนี้ถูกนำไปใช้ในงานออกแบบนิเทศศิลป์อย่างกว้างเพราะดึงดูดความสนใจได้ดี
..3. งานประติมากรรมดิน
....ดินเหนียว ดินสำเร็จรูป หรือแป้งสามารถนำมาสร้างงานประติมากรรม
เพื่อนำเสนอแนวคิดและการสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระไร้ขีดจำกัดด้วยสีที่เป็นเนื้อแท้ของดิน
หรือสีที่ผสมเข้าไปในเนื้อดิน รูปทรงที่ทำได้ตามจินตนาการเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะดึงดูด
ความสนใจของผู้ชมได้
ขึ้นไป เป็นการใช้สายตาดึงไปสู่จุดสนใจ
..4. งานศิลปะสื่อผสม
....ผู้สร้างงานสื่อผสมต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการสร้างสรรค์ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของวัสดุ สามารถนำสิ่งที่แตกต่างมาทำให้เกิดความกลมกลืนผสมผสานให้เกิดดุลยภาพ งานสื่อผสมที่ดีจะดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้มากขึ้น ถ้าสื่อนั้นแสดงการผสมผสานได้ทั้งในความนึกคิดและที่ปรากฏจริงต่อสายตาผู้ชม
...5. งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้
......การนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ความงามทางศิลปะเป็นเรื่องทำได้ยากวัสดุใหม่ๆดูเหมือนจะทำได้ง่ายกว่า แต่ในปัจจุบันนักออกแบบได้นำวัสดุเหลือใช้มาสร้างงานสามมิติได้อย่างสวยงามและเป็นการช่วยสงวนทรัพยากร สิ่งที่นำเสนอเป็นแนวคิดใหม่ที่สดใส ความแปลกใหม่จากวัสดุที่เราคุ้นเคยกับประโยชน์ใช้สอยหรือรูปลักษณ์เดิมทำให้มีความน่าสนใจเกิดขึ้น
..6. งานประติมากรรมจากวัสดุพิเศษ
งานศิลปะประเภทนี้สร้างโดยผู้มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการที่ไร้ขอบเขตวัสดุนานาชนิดถูกนำมาใช้ในการออกแบบ อาทิ พลาสติก โลหะ ไม้ อาหาร และอื่นๆ อีกมากมายอาจเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายโดยทั่วไป หรือเป็นวัสดุที่หาได้ยาก ทุกสิ่งล้วนนำมาสร้างเพื่อให้เกิด
สุนทรียภาพได้ทั้งสิ้น
.....สรุปงานออกแบบสามมิติ หมายถึง การจัดองค์ประกอบทางศิลปะให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีมิติของการมองได้ทั้งความกว้าง ความยาว และความสูงหรือความหนางานสามมิติกินบริเวณพื้นที่ว่างสามมิติ งานสามมิติมีทั้งเคลื่อนไหวได้และเคลื่อนไหวไม่ได้
การออกแบบงานสามมิติมีด้วยกันหลายวิธี แต่ได้เลือกมาเฉพาะงานสามมิติที่พัฒนาขึ้นมาจากงาน 2 มิติ ประยุกต์ใช้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานสิ่งพิมพ์ได้อีกด้วยการออกแบบสามมิติมีลักษณะเช่นเดียวกับการออกแบบงานสองมิติแต่ซับซ้อนกว่า
เพราะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับมุมมองและระยะของสายตาที่ชมงาน หลักเบื้องต้น คือต้องเลือกวิธีให้เหมาะสมกับงานโดยเริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์ แนวเรื่อง แนวคิด วัสดุ และวิธีการ
....งานออกกแบบสามมิติมีมากมายหลายชนิด แต่ที่เลือกมาเสนอในบทนี้มี 6 ชนิด คือ
...1. งานประติมากรรมกระดาษ ซึ่งทำให้เกิดมิติ แสงเงา ด้วยการพับ โค้ง ม้วน
...2. งานภาพยก ทำให้เกิดมิติได้โดยการเจาะกรุ เจาะ พับ ให้เกิดการยกระดับ
...3. งานประติมากรรมดิน สามารถทำให้เป็นรูปทรงได้โดยอิสระ
...4. งานศิลปะสื่อผสม เป็นการนำสิ่งที่แตกต่างมาสร้างความประสานกลมกลืน
...5. งานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ เป็นการทำวัสดุเหลือใช้มาสร้างให้ดูแปลกใหม่
กว่าที่เคยเห็น ในประโยชน์ใช้สอยหรือรูปลักษณ์เดิม
...6. งานประติมากรรมจากวัสดุพิเศษ ศิลปะประเภทนี้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์
และจินตนาการได้อย่างอิสระไร้ขอบเขต เพราะใช้วัสดุได้ทุกชนิดให้เหมาะสมตรงตาม
วัตถุประสงค์ของงาน

บทที่ 9

........ภาพเคลื่อนไหว หมายถึง ภาพกราฟฟิกที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงขั้นตอนหรือปรากฏ การณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเคลื่อนที่ของอะตอมในโมเลกุล หรือการเคลื่อนที่ของลูกสูบของเครื่องยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์จินตนาการให้เกิดแรงจูงใจจากผู้ชม การผลิตภาพเคลื่อนไหวจะต้องใช้โปรแกรมที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางซึ่งอาจมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ้างเกี่ยวกับขนาดของไฟล์ที่ต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บมากกว่าภาพนิ่งหลายเท่านั่นเอง
....1 ประโยชน์
- ง่ายต่อการใช้งาน
- สามารถได้ถึงความรู้สึก
- สร้างเสริมประสบการณ์
- เพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้
- เข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น
- คุ้มค่าในการลงทุน
- เพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน
.....ภาพเคลื่อนไหว คือ ลำดับของภาพนิ่งซึ่งถูกนำมาแสดงผลติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปภาพยนตร์มีอัตราการแสดงผล (Frame Rate) ที่ 24 ภาพต่อวินาที
.....ในปัจจุบันข้อมูลที่จัดเก็บเป็นภาพเคลื่อนไหวมี 2 รูปแบบ คือ แบบอนาลอก และ แบบดิจิตอล ซึ่งข้อมูลสองรูปแบบดังกล่าว เกิดจากกระบวนการสร้างและจัดเก็บที่แตกต่างกัน ข้อมูลแบบดิจิตอลจะได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากคุณภาพที่สม่ำเสมอตลอดการใช้งาน ต่างกับข้อมูลแบบอนาลอกซึ่งคุณภาพจะสูญเสียไปเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน ดังนั้นในปัจจุบันข้อมูลแบบอนาลอกจึงมักถูกแปลงเป็นข้อมูลแบบดิจิตอล เพื่อสร้างภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบดิจิตอลซึ่งมีคุณภาพที่สม่ำเสมอกว่าการนำเข้าข้อมูลภาพเคลื่อนไหวสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลภาพเคลื่อนไหวอาจถูกสร้างขึ้นจากหลายแหล่ง ซึ่งมีทั้งแหล่งที่สามารถสร้างข้อมูลภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลได้โดยตรง หรือแหล่งซึ่งสามารถสร้างข้อมูลภาพเคลื่อนไหวแบบอนาลอก ซึ่งข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นจะต้องถูกนำมาแปลงให้เป็นรูปแบบดิจิตอลก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ในระบบคอมพิวเตอร์ได้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์แบบดิจิตอล แหล่งที่สามารถสร้างข้อมูลภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลได้โดยตรง ได้แก่ กล้องถ่ายภาพวีดีโอแบบดิจิตอล (Digital Video Camera) กล้องสำหรับการประชุมผ่านระบบวีดีโอ (Videoconferencing Camera) เป็นต้น
...แหล่งที่สามารถสร้างข้อมูลภาพเคลื่อนไหวแบบอนาลอก ได้แก่ กล้องถ่ายภาพวีดีโอแบบอนาลอก (Analog Video Camera) เป็นต้น การนำเข้าข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากแหล่งที่สามารถสร้างข้อมูลแบบดิจิตอลได้โดยตรงมีความสะดวกมาก เนื่องจากข้อมูลมีรูปแบบเป็นดิจิตอล ดังนั้นจึงสามารถส่งผ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ได้โดยตรงผ่านทางช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ในระบบ เช่น IEEE1394 (FireWire) หรือ USB เป็นต้น
....การนำเข้าข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากแหล่งที่สร้างข้อมูลแบบอนาลอกสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จำเป็นที่จะต้องมีการแปลงข้อมูลอนาลอกดังกล่าวให้เป็นข้อมูลแบบดิจิตอลเสียก่อน โดยทั่วไปเมื่อต้องการนำเข้าข้อมูลจากกล้องถ่ายภาพวีดีโอแบบอนาลอก จะต้องทำการส่งผ่านข้อมูลผ่านอุปกรณ์แปลงสัญญาณที่เรียกว่า อุปกรณ์จับภาพวีดีโอ (Video Capture Device) อุปกรณ์นี้จะทำการแปลงข้อมูลแบบอนาลอกที่ได้รับจากกล้องถ่ายภาพวีดีโอแบบอนาลอกให้กลายเป็นข้อมูลแบบดิจิตอล และส่งผ่านข้อมูลดังกล่าวไปยังระบบคอมพิวเตอร์ต่อไป
....การตัดต่อภาพเคลื่อนไหวในระบบคอมพิวเตอร์ข้อมูลภาพเคลื่อนไหวที่ถูกนำเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ อาจจะไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ เช่น อาจขาดเสียงประกอบที่น่าสนใจ หรือ มีภาพที่ไม่ต้องการอยู่ในภาพเคลื่อนไหวนั้น ดังนั้นเมื่อนำเข้าข้อมูลภาพเคลื่อนไหวสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ขั้นตอนที่สำคัญในการสร้างภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอลที่สมบูรณ์ คือ การตัดต่อภาพเคลื่อนไหว โดยทั่วไปมีซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่าง ๆ มากมายที่มีความสามารถในการตัดต่อภาพเคลื่อนไหว ได้แก่ Microsoft Windows Movie Maker iMovie และ Final Cut Pro เป็นต้น
......ซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีความสามารถ โดยสังเขป ดังนี้
-สามารถทำการตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องการออกไปได้
-สามารถทำการตัดส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเคลื่อนไหวเพื่อนำไปแทรกยังส่วนอื่น ๆ ได้
-สามารถขยาย หรือย่อ ขนาดของภาพเคลื่อนไหวได้
-สามารถเพิ่ม หรือลบ เสียงประกอบในส่วนหนึ่งส่วนใดของภาพเคลื่อนไหวได้
-สามารถสร้างเทคนิคพิเศษเมื่อมีการเปลี่ยนฉากในภาพเคลื่อนไหวได้
......การบีบอัดข้อมูลภาพเคลื่อนไหว และรูปแบบในการจัดเก็บลงแฟ้มข้อมูลเนื่องจากข้อมูลภาพเคลื่อนไหวประกอบไปด้วย ภาพแบบ Raster Graphic เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจัดเก็บภาพเคลื่อนไหวลงในระบบคอมพิวเตอร์ จำเป็นจะต้องมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก ซึ่งสื่อแบบเคลื่อนย้ายได้ในปัจจุบันมีความจุไม่เพียงพอแก่การจัดเก็บข้อมูลภาพเคลื่อนไหว เช่น คอมแพคดิสก์มีความจุต่อแผ่นเพียง 700 MB แผ่น DVD มีความจุต่อแผ่นเพียง 4.7-21 GB เท่านั้น ดังนั้นการบีบอัดข้อมูลจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการจัดเก็บข้อมูลลงสื่อชนิดต่าง ๆ การบีบอัดข้อมูลภาพเคลื่อนไหวนั้นมีความแตกต่างกับการบีบอัดข้อมูลภาพนิ่งมาก เนื่องจากการนำเทคนิคการบีบอัดข้อมูลของภาพนิ่ง มาประยุกต์ใช้กับภาพนิ่งแต่ละลำดับซึ่งเป็นส่วนประกอบของภาพเคลื่อนไหวนั้น ไม่สามารถทำการบีบอัดข้อมูลได้มากพอที่จะจัดเก็บข้อมูลลงในสื่อบันทึกข้อมูลชนิดต่าง ๆ ได้ ดังนั้นเทคนิคการบีบอัดข้อมูลที่ใช้กับภาพเคลื่อนไหว จึงมีการนำความสัมพันธ์ของภาพนิ่งแต่ละลำดับซึ่งเป็นส่วนประกอบของภาพเคลื่อนไหวมาใช้ในการบีบอัดข้อมูลด้วย หลักการคือ ส่วนประกอบในภาพส่วนใดที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงในภาพนิ่งแต่ละลำดับ ส่วนประกอบในภาพส่วนนั้นจะถูกจัดเก็บลงในสื่อบันทึกข้อมูลเพียงครั้งเดียว รูปแบบการบีบอัดข้อมูลและรูปแบบในการจัดเก็บข้อมูลลงในแฟ้มข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน และได้รับความนิยมมีดังนี้
....AVI (Audio Video Interface)
– เป็นรูปแบบมาตรฐานบนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows เมื่อผู้ใช้ต้องการแสดงภาพเคลื่อนไหวซึ่งถูกจัดเก็บในรูปแบบ AVI สามารถทำได้โดยการใช้ซอฟต์แวร์ Microsoft Media Player แฟ้มข้อมูลรูปแบบนี้จะมีส่วนต่อขยายของแฟ้มข้อมูลเป็น .avi
Quicktime Movie
– เป็นรูปแบบมาตรฐานบนระบบคอมพิวเตอร์จากบริษัท Apple Computer เมื่อผู้ใช้ต้องการแสดงภาพเคลื่อนไหวซึ่งถูกจัดเก็บในรูปแบบ Quicktime Movie สามารถทำได้โดยการใช้ซอฟต์แวร์ Quicktime Player ซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการได้หลายระบบ เช่น Microsoft Windows Unix MacOS แฟ้มข้อมูลรูปแบบนี้จะมีส่วนต่อขยายของแฟ้มข้อมูลเป็น .movMPEG (Moving Picture Experts Group)
– เป็นรูปแบบมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปบนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และนิยมใช้กับเครื่องเล่นภาพเคลื่อนไหว เพื่อการรับชมภาพเคลื่อนไหวโดยตรงกับเครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อต้องการรับชมภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบนี้ สามารถทำได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ Microsoft Media Player หรือ Quicktime Player บนระบบคอมพิวเตอร์ ถ้าต้องการรับชมภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบนี้ผ่านทางเครื่องเล่นภาพเคลื่อนไหว ภาพเคลื่อนไหวดังกล่าวจะอยู่ในรูปแบบของ VideoCD และ DVD โดยมาตรฐานที่ใช้ในการบีบอัดและจัดเก็บข้อมูลคือ MPEG-1 และ MPEG-2 ตามลำดับ แฟ้มข้อมูลรูปแบบนี้จะมีส่วนต่อขยายของแฟ้มข้อมูลเป็น .mpg หรือ .mpegRealMedia
– เป็นรูปแบบในการรับชมภาพเคลื่อนไหวผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็น Streaming คือ สามารถควบคุมการเล่นภาพได้ เช่น การเล่นภาพ การเดินหน้า การถอยหลัง การหยุดเล่นชั่วคราว ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการรับชมภาพเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ คือ ซอฟต์แวร์ Real Player ซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการได้หลายระบบ เช่น Microsoft Windows Unix MacOS แฟ้มข้อมูลรูปแบบนี้จะมีส่วนต่อขยายของแฟ้มข้อมูลเป็น .rmASF
- เป็นรูปแบบในการรับชมภาพเคลื่อนไหวผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตและมีคุณลักษณะเป็น Streaming เช่นกัน ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการรับชมภาพเคลื่อนไหวรูปแบบนี้ คือ ซอฟต์แวร์ Microsoft Media Player ซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows แฟ้มข้อมูลรูปแบบนี้จะมีส่วนต่อขยายของแฟ้มข้อมูลเป็น .asf

Free hi5 Cursors I got my cursor from: hi5 Cursors